ลื่นล้มในห้องน้ำเป็นอุบัติเหตุลำดับต้นๆ ภายในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงวัยและเด็กเล็ก สาเหตุหลักเกิดจากความเปียกชื้นสะสมทำให้พื้นห้องน้ำเกิดคราบตะไคร่และเชื้อรา ซึ่งหากห้องน้ำไม่ได้รับการออกแบบที่ดี จะกลายเป็นโซนที่อันตรายโซนหนึ่งของบ้านได้

สำหรับบ้านยุคใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จจะไม่น่าห่วงมากนัก ส่วนใหญ่สถาปนิกได้ออกแบบแยกโซนเปียกแห้งไว้ให้แล้ว แต่หากเป็นบ้านเรือนเก่าหรือบ้านที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานออกแบบ อาจยังใช้รูปแบบห้องน้ำเก่าที่รวมทุกอย่างไว้ภายในโซนเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงแค่อันตรายเท่านั้นแต่ยังส่งผลให้การดูแลห้องน้ำเป็นไปได้ยาก 5 วิธีง่าย ๆ ในการแยกโซนเปียกแห้งโดยไม่ต้องแบ่งกั้นห้องเพิ่ม เพื่อให้ทุกบ้านได้ใช้ห้องน้ำอย่างปลอดภัยและไม่เหนื่อยไปกับการขัดถูทั่วทั้งห้องมาฝากค่ะ

1.ใส่แนวกั้นขอบ กั้นน้ำบริเวณพื้น
การใส่แนวกั้นนิยมใช้ในโครงการบ้านจัดสรร เนื่องด้วยทางโครงการต้องการลดต้นทุนงานก่อสร้าง จึงทำขอบกั้นรอไว้ด้วยวิธีก่อขอบปูนขึ้นมาเป็นแนวกั้นสูงประมาณ 5-10 ซม. จากนั้นวางท่อรางน้ำทิ้ง (Floor Drain) หรือทางระบายน้ำในโซนอาบน้ำให้สัมพันธ์กับความลาดเอียงของห้อง

การใส่แนวกั้นจะได้ผลดีในกรณีที่ผังห้องน้ำจัดตำแหน่งแยกโซนและหันด้านฝักบัวไว้อย่างเหมาะสม จะช่วยกั้นน้ำบริเวณพื้นห้องโซนเปียกไม่ให้ไหลออกไปยังโซนแห้ง แต่หากออกแบบโซนอาบน้ำรวมไว้กับโซนอื่นๆ แนะนำให้ติดผ้าม่านหรือติดตั้งกระจกเพิ่มเติม มิเช่นนั้นน้ำที่ได้จากฝักบัวจะกระเซ็นไปทั่วทั้งห้อง ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก

2.แยกโซนเปียกแห้งด้วยผ้าม่าน
ผ้าม่านห้องน้ำ เป็นอุปกรณ์แบ่งโซนแห้งเปียกที่ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด วัสดุที่ใช้ผลิตมีหลายชนิดและมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป สำหรับวัสดุพลาสติกธรรมดาราคาค่อนข้างถูก แต่การใช้งานจะสั้น เมื่อโดนน้ำทุกวัน เชื้อราสีดำจะขึ้นเป็นจุดดูสกปรกไม่น่ามอง จึงต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง ดังนั้นควรเลือกซื้อผ้าม่านห้องน้ำที่มีคุณสมบัติกันน้ำ เช่น

• ผ้าม่าน PVC ที่มีความยืดหยุ่น ดูดซับความชื้นรวดเร็ว ทำความสะอาดง่าย
• ผ้าม่านวัสดุ PEVA ผ้าม่านกึ่งทึบแสงที่ดีกว่า PVC ตรงที่ไม่มีคลอไรด์ เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า มีคุณสมบัติกันน้ำ ช่วยลดการเกิดและสะสมของเชื้อราได้ดี
• ผ้าม่านวัสดุ EVA หรืออีกหนึ่งชนิดของโพลิเมอร์ มีคุณสมบัติโปร่งแสง ไร้กลิ่นเป็นมิตรกับคนและบ้าน ทนทานต่อการโดนน้ำ คราบสบู่ คราบแชมพูได้ดี และป้องกันเชื้อราได้
• ผ้าม่านโพลีเอสเตอร์ เคลือบผิวกันน้ำ จึงไม่อุ้มน้ำและความชื้น คราบไม่เกาะ น้ำหนักเบา ซักแล้วไม่หดตัว

3.แยกโซนเปียกแห้งด้วยฉากอาบน้ำ
ในบ้านยุคใหม่นิยมใช้ฉากกั้นอาบน้ำมาเป็นตัวช่วยแบ่งโซนแห้งและเปียกมากขึ้น โดยเฉพาะฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเปลือย ด้วยจุดเด่นของวัสดุโปร่งใส ทำให้ห้องน้ำดูสวยให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง สามารถสั่งออกแบบได้ตามขนาดหรือรูปทรงที่ต้องการ อาจเป็นเพียงผนังกั้นเดี่ยวหรือมีประตูกั้นเพิ่มขึ้นอยู่กับโจทย์ความต้องการ

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กระจกธรรมดา แต่ให้ใช้กระจกที่มีความแข็งแรงทนทาน เช่น กระจกนิรภัย กระจกอะครีลิค เพราะหากเกิดอุบัติเหตุกระจกแตกเศษกระจกจะแหลมคม ต่างจากกระจกนิรภัยที่แตกแล้วจะเป็นลักษณะเหมือนเม็ดข้าวโพดเล็กๆ ทำให้มีอันตรายน้อยกว่า

4.ตู้อาบน้ำสำเร็จรูป (Shower Cabin)
นับเป็นตัวเลือกในการกั้นโซนเปียกโซนแห้งให้เป็นสัดส่วนที่สะดวก เพียงยกมาวางก็ใช้งานได้เลยแทบจะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ตู้อาบน้ำสำเร็จรูปมีน้ำหนักไม่มาก ขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 90 ซม. X 90 ซม. แต่แนะนำว่าก่อนจะซื้อมาติดตั้งให้วัดขนาดพื้นที่ว่างภายในห้องน้ำก่อน และไปทดลองยืนหมุน ๆ ตัว เสมือนว่ากำลังยืนอาบน้ำจากตู้จริงก่อนครับ เพราะหากผู้ใช้งานตัวสูงใหญ่ ตู้อาบที่เล็กเกินไปอาจจะทำให้รู้สึกอึดอัดและติดแขนในขณะถูสบู่ได้ จุดเด่นของตู้อาบน้ำสำเร็จรูปอยู่ที่ความสะดวกในการติดตั้ง กั้นเปียกแห้งได้ดีเกือบ 100% และราคาที่จับต้องได้ เริ่มต้นเพียงหลักพันบาทเท่านั้นค่ะ

5.ก่อผนังแยกโซนแห้งเปียก
เป็นอีกวิธีที่เรียบง่าย นิยมใช้กันอย่างมากในประเทศไทย เหมาะกับห้องน้ำที่จัดผังโซนอาบน้ำไว้บริเวณริมในสุดของห้อง โดยทำการก่อผนังยื่นออกมาประมาณ 80-100 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของขนาดห้องน้ำ บริเวณพื้นโซนอาบน้ำอาจออกแบบให้มีระดับพื้นต่ำกว่าโซนแห้งประมาณ 5-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกทางพื้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดงบและป้องกันน้ำกระเซ็นได้ระดับหนึ่ง แต่อาจจะรู้สึกมืดทึบมากกว่างานกระจกใส

ผนังกั้นควรปิดผิวผนังด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย เช่น กระเบื้องเซรามิก หรือกรณีขัดมันเปลือยให้เคลือบด้วยน้ำยาขัดเงาทับไว้อีกชั้น เพื่อป้องกันความชื้นสะสมและทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นค่ะ

ห้องน้ำแม้จะเป็นพื้นที่ที่เล็กที่สุดในบ้าน แต่ก็มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยไม่น้อย สำหรับบ้านที่ยังไม่สร้าง ควรใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ ทั้งการจัดฟังก์ชันการใช้งาน การเลือกวัสดุปิดผิว สุขภัณฑ์ห้องน้ำ หรือหากบ้านไหนมีผู้สูงอายุ ควรออกแบบตามหลัก Universal Design จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี

🍀ฝากกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม กด SUBSCRIBE ให้กำลังใจช่องเราด้วยนะคะ 🍀ขอบคุณค่ะ
——————————————————
🔥สนใจสร้างบ้าน ออกแบบบ้าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม..

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCX2BRVz20HJNoCQjRPEXdfA

website : https://www.baanbuild.com/

facebook : https://www.facebook.com/baanbuild